03 การวัดความหนาแน่นของประชากร



การวัดความหนาแน่นของประชากร(population measurement)  


                การนับจำนวนสิ่งมีชีวิตเพื่อหาความหนาแน่นของประชากร บางครั้งอาจจะนับได้ทั้งหมด แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่สามารถนับได้ทั้งหมดจริง ค่าความหนาแน่นที่ได้จะเป็นความหนาแน่นเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น การวัดความหนาแน่นของประชากรสามารถแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ความหนาแน่นสมบูรณ์หรือความหนาแน่นที่แท้จริง (absolute density) และความหนาแน่นสัมพัทธ์ (relative density)
               
                1. วิธีวัดความหนาแน่นสมบูรณ์ หรือความหนาแน่นที่แท้จริง (absolute density) เป็นการวัดความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยพื้นที่หรือปริมาตร มีวิธีการวัด2 วิธี คือ
                              1.1 การนับทั้งหมด (total counts) เป็นการนับจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่สำรวจ มักใช้กับสัตว์พวกที่มีกระดูกสันหลัง(vertebrate) เช่น การศึกษาจำนวนประชากรของนักศึกษามาหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนลิงในสวนสัตว์เชียงใหม่
                              1.2 การสุ่มตัวอย่าง (sampling method) เป็นการวัดความหนาแน่นในสัดส่วนหรืออัตราส่วนเล็กๆ ของประชากรทั้งกลุ่ม แล้วนำไปประเมินเป็นความหนาแน่นทั้งหมดของประชากรนั้นๆ วิธีการสุ่มตัวอย่างที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก่
                                             1.2.1 การใช้ควอแดรท (quadrant) เป็นการนับประชากรทั้งหมดภายในพื้นที่ที่ทำการเก็บตัวอย่างหรือควอแดรท ซึ่งจะเป็นรูปอะไรก็ได้ แต่ที่นิยมทำกันมักเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ค่าความหนาแน่นของประชากรที่ศึกษาต้องอาศัยค่าต่างๆ เช่น ต้องทราบจำนวนทั้งหมดในแต่ละ     ควอแดรท ทราบพื้นที่ในแต่ละควอแดรท รวมถึงตัวอย่างที่เก็บมาต้องเป็นตัวแทนที่ดีของพื้นที่ทั้งหมดที่ทำการสำรวจ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย เช่น เก็บตัวอย่างมา 37 ควอแดรท จำนวนสิ่งมีชีวิตที่นับได้คือ 30 ดังนั้นจะได้จำนวนตัวต่อควอแดรท คือ 30/37 = 0.811 และเมื่อแต่ละควอแดรทมีพื้นที่เท่ากับ 0.08 ตารางเมตร สามารถหาค่าความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ได้เป็น 0.811/0.08 = 10.1 ตัวต่อตารางเมตร เป็นต้น
                                             1.2.2. การจับ-ปล่อย แล้วจับอีกครั้ง (capture recapture) เป็นการจับสิ่งมีชีวิตที่สนใจมาทำเครื่องหมายแล้วปล่อยไปและทำการจับคืนมาอีก แล้วนับจำนวนตัวที่มีเครื่องหมายและไม่มีเครื่องหมายเพื่อนำมาคำนวณหาจำนวนประชากร การสุ่มโดยวิธีนี้นอกจากจะเป็นการประเมินความหนาแน่นแล้วยังเป็นการประเมินอัตราการเกิดและ อัตราการตายของประชากรได้ด้วยการวัดความหนาแน่นด้วยวิธีนี้คำนวณได้จากสูตร P = T2M1/— // M2
                                   P = ประชากรที่ต้องการทราบ
                                   M1 = จำนวนสัตว์ที่จับได้ครั้งแรกและทำเครื่องหมายทั้งหมดแล้วปล่อย
                                   M2 = จำนวนสัตว์ที่ทำเครื่องหมายที่จับได้ครั้งหลัง
                                  T2 = จำนวนสัตว์ทั้งหมดที่จับได้ครั้งหลังทั้งที่มีเครื่องหมายและไม่มีเครื่องหมาย
 การประเมินความหนาแน่นของประชากรมีข้อแม้ว่า
               1. สัตว์ที่ถูกทำเครื่องหมายและไม่มีเครื่องหมายจะถูกจับได้โดยสุ่ม
               2. ถ้ามีการตายเกิดขึ้น สัตว์ที่ถูกทำเครื่องหมายและไม่มีเครื่องหมายมีโอกาสที่จะได้ตายเท่ากัน
               3. เครื่องหมายที่ทำไว้จะต้องไม่หลุด สูญหาย หรือมองเห็นได้ยาก การประเมินประชากรด้วยวิธีนี้ปกติจะมีการทำซ้ำๆ หลายครั้งต่อปีซึ่งทำให้สามารถทราบถึงอัตราการเกิดและอัตราการตายได้อีกด้วย
               2. วิธีวัดความหนาแน่นสัมพัทธ์ (relative density) จำนวนประชากรที่คำนวณได้จากการสุ่มตัวอย่างเป็นเครื่องชี้” (index) บอกขนาดของประชากร โดยบอกเป็นค่าความหนาแน่นต่อหน่วยคงที่ใดๆ เช่น ต่อกับดักหรือต่อใบพืช และมีความสัมพันธ์กับประชากรแท้จริงค่อนข้างจะคงที่ ใช้ได้ในเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น การหาความหนาแน่นสัมพัทธ์มีหลายวิธี เช่น
               1. ใช้กับดัก เช่น กับดักแมลงวัน แสงไฟล่อแมลง การขุดหลุมดักแมลงปีกแข็ง เครื่องดูดจับแมลง จำนวนที่จับได้ขึ้นอยู่กับความว่องไวของแมลง จำนวนที่มีอยู่ และความชำนาญของผู้ใช้กับดัก เป็นต้น
               2. นับจำนวนมูล การนับปริมาณมูลของแมลงสามารถใช้บอกขนาดของประชากรได้ เช่น การวัดความหนาแน่นประชากรของ ด้วงเจาะลำต้น เป็นต้น
               3. ความถี่ในการกระพริบแสง เช่น มีการนับจำนวนหิ่งห้อยจากการกระพริบแสงช่วงตอนกลางคืน เพื่อใช้เป็นดรรชนีบอกขนาดของประชากร
               4. จำนวนร่องรอยที่สัตว์ทำไว้ เช่น ปลอกดักแด้ รูจิ้งหรีด กองดินที่จั๊กจั่นบางชนิดทำขึ้น
               5. ปริมาณอาหารที่กิน เช่น การวัดประชากรหนูโดยใช้จำนวนเหยื่อที่หนูกินเป็นดรรชนี วิธีนี้ใช้เพื่อประเมินผลของการใช้ยาเบื่อหนูต่อประชากรหนูเมื่อก่อนและหลังเบื่อยา เป็นต้น
               6. ความถี่ ใช้เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ควอแดรทที่มีสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นอยู่เป็นดรรชนี
               7. จำนวนประชากรที่จับได้แต่ละครั้ง เป็นเครื่องชี้บอกความมากน้อยของประชากรวิธีวัดความหนาแน่นสัมพัทธ์มีประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนผลจากการวัดโดยตรงให้มีความแน่ชัดยิ่งขึ้น เมื่อการนับจำนวนสัตว์หลายชนิดเป็นไปได้ยาก ก็จำเป็นต้องยอมรับผลของการนับด้วยวิธีวัดความหนาแน่นสัมพัทธ์ซึ่งใช้ดรรชนีต่างๆ เป็นตัวบ่งชี้จำนวนประชากร

1 ความคิดเห็น: